ทำไมนักเขียนญี่ปุ่นถึงถูกเรียกว่าเซนเซย์

Leave a Comment




ถ้าใครได้ดูละครเรื่อง "Ghost Writer" หรือติดตามวงการหนังสือในญี่ปุ่นจะเคยได้ยินมาบ้างว่า เวลาจะเรียก "นักเขียน" คนญี่ปุ่นจะมีคำว่า "เซนเซย์" นำหน้า ซึ่งปกติเราจะได้ยินสำหรับคนที่ทำอาชีพหมอ ทนายความ นักการเมือง และครู แต่เคยสงสัยไหมคะว่า ทำไม "นักเขียน" ถึงถูกเรียกว่า "เซนเซย์" ด้วย?


จริงๆ แล้วคำว่า "เซนเซย์" ไม่ได้ถูกใช้ในความหมายว่า "ครู" หรือ "อาจารย์" อย่างเดียวค่ะ แต่ความหมายของคำนี้ ยังหมายถึงผู้ที่มีความสามารถในด้านนั้นๆ specialist Master ประมาณนั้น


แล้วทำไมถึงต้องเรียกว่า "เซนเซย์"?

ถ้ามองที่วงการนักเขียนบ้านเรา พอเราพูดว่า "หนูอยากเป็นนักเขียนค่ะ!" คนก็จะทำหน้าแบบ..."ต๊ายยย พวกไส้แห้ง!" จริงๆ ก็เป็นอาชีพไส้แห้งแหละค่ะ (อ้าววว ฮ่าๆ) ถ้า "งานยังไม่เป็นที่ยอมรับ" แต่ถ้าได้มีโอกาสออกหนังสือเมื่อไร ขอบอกว่า อาชีพนี้ "เสือนอนกิน" ค่ะ แต่ถึงอย่างนั้นในญี่ปุ่นก็กลับยังมีชื่อเรียกที่ให้การยกย่องว่า "เซนเซย์" ด้วยที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า...

1. เขาเชื่อกันว่าอาชีพ "นักเขียน" เป็นของมีครู
ถือว่าเป็นศาสตร์อย่างหนึ่งที่ต้องเรียนรู้ อาชีพนักเขียนในญี่ปุ่น ไม่ใช่แค่ว่าไปหยิบปากกามาขีดๆ เขียนๆ ก็เป็นนักเขียนได้ แต่มันรวมถึงความสามารถในการเรียบเรียง การใช้คำให้เข้าถึงใจ หรือแนวความคิดแบบครีเอทีฟ สร้างสรรค์ผลงาน ไม่ง่ายเลยนะคะ มันเป็นอาชีพที่ต้องศึกษาเช่นกันค่ะ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ภาษา การเขียนโครงเรื่องให้เจ๋งๆ บางทักษะต้องฝึกฝนอย่างจริงจัง ถึงจะทำให้งานออกมาดีค่ะ 


2. นักเขียนเป็นผู้มีความสามารถเฉพาะด้าน

นักเขียนต้องมีทั้งฝีมือและพรสวรรค์ที่ไม่เหมือนใคร นักเขียนญี่ปุ่นที่โด่งดังได้ มักจะสะสมประสบการณ์มาหลายปีค่ะ และมักจะใช้เวลาทั้งหมดทุ่มเทกับสิ่งๆ นั้นจนเป็นผู้เชี่ยวชาญจริงๆ ด้วยความเชี่ยวชาญ ความสามารถทำให้ "นักเขียน" ได้รับการยกย่องว่าเป็น "เซนเซย์"


3. การแจ้งเกิดในวงการหนังสือญี่ปุ่นไม่ใช่เรื่องง่าย
วงการนักเขียนบ้านเขาแจ้งเกิดได้ยากมาก  ยากขนาดไหนดูได้ในเรื่อง "Ghost Writer" ที่สะท้อนออกมาว่า ถ้าคุณไม่เป็นที่รู้จักมากพอ ก็ไม่มีคนสนับสนุน อย่าง "โทโนะ เซ็นเซย์" ในเรื่อง นางลอยลำแล้ว มีชื่อเสียงมากๆ ไม่ว่าจะเขียนเรื่องอะไรก็มีคนติดตาม แต่กว่าจะมีชื่อเสียงได้ก็ใช้เวลาในการสร้างสรรค์ผลงานถึง 15 ปี!

คนที่จะเป็นนักเขียนระดับมีฝีมือ สร้างผลงานมีคุณภาพได้ (อันนี้หมายถึงพวกนักเขียนที่สร้างงานเขียนจริงๆ ใช้ภาษาดี มีการใช้วาทศิลป์ระดับสูง สร้างพล็อตเรื่องแข็งแรง ไม่ใช่เขียนหน้าละ 3 บรรทัด เน้นขายแมสนะคะ) ต้องเป็นคนที่มีความเชี่ยวชาญจริงๆ ค่ะ
และส่วนใหญ่จะใช้เวลาทั้งชีวิตให้กับงานเขียน กว่าจะได้เป็นนักเขียนที ก็ผ่านงานการเขียนมาอย่างนับไม่ถ้วน ด้วยความยากลำบากก็ย่อมนำมาซึ่งความสามารถ ยังงี้แล้วก็ต้องยกตำแหน่ง "เซ็นเซย์" ให้ไปเลยค่ะ


4. มีลูกศิษย์

นอกจากนี้ นักเขียนบางคนก็จะมี "ลูกศิษย์" ค่ะ ทำงานในฐานะเป็น "ผู้ช่วย" และเรียนรู้่การเขียนงานจากนักเขียนคนนั้น ก็เหมือนเป็นเซนเซย์ที่ให้ความรู้กับลูกศิษย์ ถ้าให้เห็นภาพชัดๆ ก็พวก "นักวาดการ์ตูน" ค่ะ อาชีพนี้ก็จะถูกเรียกว่า "เซนเซย์" เหมือนกัน และเป็นพวกมีความรู้ ความสามารถเฉพาะด้านจนได้รับการยกย่องเป็น "เซนเซย์" เช่นกัน



และนี่ก็คือเหตุผลที่ว่าทำไม "นักเขียน" ในญี่ปุ่นถึงได้มีชื่อเรียกนำหน้าว่า "เซนเซย์" สิ่งนี้นอกจากจะทำให้เราเห็นถึงฝีมือ ความสามารถ และความยากลำบากของอาชีพนี้แล้ว มันทำให้เห็นว่า สังคมบ้านเขา "ให้เกียรติ" กับทุกอาชีพจริงๆ ค่ะ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น