ละครญี่ปุ่นไม่มีคำว่าจบบริบูรณ์

1 comment

เคยไหมคะ เวลาดูละครญี่ปุ่นแล้วเกิดความสงสัยว่า "นี่จบแล้วจริงๆ เหรอ" ละครญี่ปุ่นมีความพิเศษตรงที่ว่า เป็นละครที่จบเหมือนไม่จบ จบแล้วไม่เคลียร์ และไม่มีคำว่า "จบบริบูรณ์" หรือ "อวสาน" ขึ้นหราบนหน้าจอเพื่อให้รู้ว่า "จบแล้ว" นะจ๊ะด้วย (ออกแนวเป็นละครที่ไม่ได้บอก ไม่ได้ป้อนข้อมูลทุกอย่าง ปล่อยให้คนดูได้คิดอะไรเองบ้าง)

และทีนี้ถ้าเราเกิดความสงสัย เราจะรู้ได้ยังไงว่า ละครเรื่องนั้นจบแล้วจริง!?
วันนี้ชามะนาวจะมาแนะนำวิธีสังเกตตอนจบของละครญี่ปุ่นค่ะ จะมีจุดสังเกตอะไรบ้าง ตามมาดูกันเลยค่ะ

*******************************************

1. จบในตอนที่ 10
Credit Pic: ละครญี่ปุ่นเรื่อง I'm Home


ถ้าละครดำเนินไปถึงตอนที่ 10 ก็เตรียมใจเลยค่ะว่า ไม่ว่าเรื่องจะยังคงคาราซัง อิรุงคุงนังขนาดไหน มันจะปิดบัญชีในตอนนี้นี่แหละ แต่ถ้ามันผิดคาดล่ะก็ ยังไงก็ไม่น่าจะเกินตอนที่ 12 ค่ะ สำหรับคนที่ดูละครย้อนหลังอาจจะพอรู้ได้ว่า มันจบที่ตอนไหน แต่สำหรับคนที่ดูแบบ Real Time บางเรื่องก็มีนะคะที่ไม่บอกว่าจะจบวันไหนอะไรยังไง รอให้คนดูลุ้น แต่มันก็มีบางกรณีที่เรารู้แหละว่าจะจบตอนไหน วันไหนแต่ด้วยเนื้อหาที่ยังค้างคา ดูยังไม่จบ (ตามขนบซีรีส์ญี่ปุ่น) ก็อาจสร้างความงุนงงให้กับคนดูได้ เอาเป็นว่า ละครญี่ปุ่นเนี่ยปกติจะจบในตอนที่ 10 ค่ะ ถ้ายาวกว่านี้ก็ไม่เกินตอนที่ 12


*******************************************

2. "ละครเรื่องนี้เป็นเรื่องแต่ง"


Credit Pic: ละครญี่ปุ่นเรื่อง Yokoso Wagaya e 


ในละครไทยเราอาจเห็นคำว่า "จบบริบูรณ์" หรือ "อวสาน" ในละครตอนจบ แต่สำหรับละญี่ปุ่นแล้วให้สังเกตคำนี้ค่ะ


「このドラマはフィグションです。」

(Kono dorama wa fiction desu)

หรือแปลเป็นไทยว่า "ละครเรื่องนี้เป็นเรื่องแต่ง" แต่ปกติแล้วคำๆ นี้จะมีให้เห็นในตอนจบทุกตอนค่ะ แต่สำหรับตอนจบ ตัวมันจะใหญ่ และซูมให้เด่นเป็นพิเศษ ออกแนวว่า "จบและนะเว้ยย อย่าอินๆ นี่แค่เรื่องแต่ง" แทนที่จะบอกว่า "จบ" แต่กลับเลือกใช้ข้อความว่า "ละครเรื่องนี้เป็นเรื่องแต่งแทน" อาจเป็นเพราะว่า ละครมันยังไม่จบ ไม่เคลียร์จริงๆ จนถึงขั้นจะบอกว่า "จบ" ได้ ก็ตามขนบละครญี่ปุ่นค่ะที่แต่ละเรื่องมักจะจบไม่เคลียร์ และมักจะต่อยอกด้วยการทำ "ภาคต่อ" แทนที่จะ "รีเมค" ให้เกลื่อนตลาด ก็เลยปล่อยให้จบไปแบบนี้ดีกว่าค่ะ เผื่อทำต่อ*******************************************

3. ไม่มีตัวอย่างตอนต่อไป

ตามปกติแล้ว ละครญี่ปุ่นพอจบตอนหนึ่ง ก็จะมีตัวอย่างตอนต่อไป เรียกน้ำย่อยให้เราติดตามต่อค่ะ แต่ถ้าถึงตอนจบแล้ว จะไม่มีตัวอย่างตอนต่อไป (แน่ละ เพราะว่ามันจบแล้ว) แต่จะเป็นการประมวลภาพของละคร ในแต่ละตอนที่เคยฉายไปขึ้นมา พร้อมกับขาย DVD Box set แต่มันก็มีบางเรื่องที่กวนๆ ค่ะ อย่างเช่น "Senryokugai Sosakan" ละครแนวสืบสวน ที่บางตอนก็ชอบล้อเลียนขนบละครญี่ปุ่น บางทีก็จะเล่นมุกตลกว่า "ขอไม่มีตัวอย่างตอนต่อไป" ได้ไหม แต่ในกรณีนี้ตัวละครจะพูด จะแสดงให้รู้ค่ะว่าเป็นมุก

*******************************************


4. เซนส์ในการตีความ

ละครญี่ปุ่นเป็นละครที่ค่อนข้างใช้ความคิดเยอะค่ะ ทั้งแนวละครที่เครียดๆ สืบสวน น้อยเรื่องมากที่เราจะดูไปแบบ "ไม่คิดอะไร" แต่นี่คือเสน่ห์ของละครญี่ปุ่นค่ะ ที่ชวนให้เราคิดตามตลอดเวลา จนไปๆ มาๆ การที่ได้คิดเนี่แหละเลยทำให้ "สนุก" ตอนจบของละครญี่ปุ่นเช่นกัน คนดูต้องมีเซนส์ค่ะ 

Credit Pic: ละครญี่ปุ่นเรื่อง First Class Season1


ขอยกตัวอย่างที่เรื่อง "First Class" ถ้าใครได้ดูจะเห็นว่า ฉากตอนจบคือชาร์ต Mounting Ranking  และในชาร์ต "จินามิ" นางเอกของเรื่องร่วงมาอยู่ในอันดับสุดท้าย ส่วนไพ่อื่นๆ ยังไม่มีรูปใคร นั่นไม่ได้หมายถึงว่าละครภาคนี้ยังไม่จบ มันจบแล้วค่ะ แต่ในขณะเดียวกัน มันก็คือจุดเริ่มต้นของละครเรื่องใหม่! ถ้าเห็นยังงี้ เดาได้เลยว่ามีภาคต่อแน่นอนน แล้วก็มีจริงๆ ด้วย!

หรือบางทีก็อาจจะไม่มีภาคต่ออะไรทั้งสิ้น แต่ก็เป็นขนบที่ต้องจบไปงงๆ แบบเท่ๆ ให้เราได้ขบคิดไปต่อค่ะว่า จริงๆ แล้วมันจบยังไงนะ จบแบบนี้มันหมายความว่ายังไง ด้วยเหตุนี้แหละคะ จึงต้องใช้เซนส์ในการดูและตีความ
 

*******************************************

วิธีการดู "ตอนจบ" ของละครญี่ปุ่นก็มีประมาณฉะนี้ค่ะ จะว่าไปละครญี่ปุ่นที่จบแบบค้างๆ คาๆ ก็เยอะมาก เพื่อนๆ มีละครเรื่องไหนที่จบได้แบบค้างคาใจ ก็ร่วมกันมาแชร์ได้นะคะ ส่วนตัวแล้ว เราชอบตอนจบแบบงงๆ ไม่เคลียร์แบบนี้ค่ะ มันชวนให้เราได้คิดต่อ จินตนาการ ตีความสิ่งที่ซ่อนไว้ นอกเหนือจากสิ่งที่เห็นจากในละคร อย่างว่าแหละค่ะ 
"ละครญี่ปุ่นไม่มีคำว่าจบบริบูรณ์" 

1 ความคิดเห็น:

  1. Hard nut จบไม่เคลียร์หวังให้มีภาคต่อแต่ก็ยังไม่มีวี่แววเลยค่ะ

    ตอบลบ