รูปแบบชีวิตที่หลากหลายในละครญี่ปุ่น ไม่ว่าใครก็เป็น “ตัวเอก” ที่โดดเด่นได้!!!

Leave a Comment



ในละครญี่ปุ่น เราจะเห็นผู้คนรูปแบบที่หลากหลายค่ะ ไม่ได้จำกัดแค่ว่าต้องเป็นคนสวย หล่อ หน้าตาดี ฐานะดี ร่ำรวย มีรถขับเท่านั้น แต่จะเป็นใครก็ได้ที่มีรูปแบบชีวิตที่น่าสนใจ และมอบอะไรบางอย่างให้กับสังคม ถ้าไม่หล่อ สวย หน้าตาดี ความสามารถล้ำ เพอร์เฟ็ครอบด้านแล้วล่ะก็ลักษณะตัวละครเอกญี่ปุ่นแบบอื่นๆ ที่พบเจอก็เช่น



1. ปัจเจกบุคคล

สำหรับใครที่ดูละครญี่ปุ่นมา คงจะเห็นตัวละครแบบหนึ่ง ที่มีมากใละครญี่ปุ่น นั่นก็คือกลุ่ม "ปัจเจกบุคคล" ตัวละครที่มีความเป็นตัวของตัวเอง ไม่ยึดติดกับกลุ่มคนมากเกิน หรือไม่ก็กลุ่มคนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ ไม่เหมือนใคร จนถูกมองว่าเป็นคนแปลกแยกในสังคม



อย่างเรื่อง Dr.X "หมอมิจิโกะ" ศัลยแพทย์ฟรีแลนซ์ที่ไม่ตามใครไม่หวั่นกลัวต่ออำนาจเบื้องบน ไม่ต้องการชื่อเสียง แต่สิ่งที่เธอต้องการคือ การได้ผ่าตัด และช่วยเหลือชีวิตคน 

ตัวละครนี้เป็นสิ่งที่ทำให้เห็นว่า...คนที่มีท่าทางเย่อหยิ่ง ไม่ตามใคร เป็นตัวของตัวเองไม่ได้หมายความว่าเขาจะเป็นคนไม่ดีนะ จะตัดสินคนๆ หนึ่งแค่เรื่องพวกนั้นไม่ได้หรอก แล้วมันก็ไม่ใช่เรื่องผิดใหญ่โตอะไรด้วย กับการที่เราจะเป็นตัวของตัวเอง มีความแตกต่างจากคนทั่วไปในสังคม


ซึ่งจริงๆ แล้วในสังคมญี่ปุ่นไม่ค่อยมีคนพวกนี้หรอกค่ะแต่กลับมีมากในละครญี่ปุ่น อาจเป็นเพราะว่าเขาต้องการจะสื่อให้เห็นว่าคนที่ไม่เหมือนใคร ไม่ใช่คนที่ทำผิด แต่แค่เชื่อมั่นในสิ่งที่เป็นมากกว่า




2. คนขี้แพ้ ไม่เอาไหน

ตัวละครเอกญี่ปุ่นไม่ได้มีแค่คนที่เก่ง เมพ มีความสามารถเท่านั้น แต่คนขี้แพ้ อ่อนหัด คนไม่เอาไหน แต่ "มีความพยายาม" ก็สามารถเป็นตัวละครเอกได้



อย่างเรื่อง "Freeter ie wo kau" ผู้ชายที่ใช้ชีวิตแบบ Freeter ทำงานพาร์ทไทม์ไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีจุดหมายในชีวิต แต่เขาสามารถเป็นพระเอกละครญี่ปุ่นได้ค่ะ! เพราะจู่ๆ ชีวิตตัวละครก็พลิกผันให้เขาต้องการจุดหมายในชีวิตให้ได้ และต้องมีชีวิตที่ดีกว่าเดิม ด้วยความไม่เพอร์เฟ็คในตอนแรก เลยเป็นจุดที่น่าสนใจของตัวละครที่ชวนให้คนดูอยากติดตามต่อ และยังเป็นต้นแบบที่ดีให้กับคนในสังคมที่กำลังท้อแท้ในชีวิตได้อีกด้วย




3. ไม่จำเป็นต้องรูปหล่อและพ่อรวย 




นอกจากนี้ ตัวละครเอกญี่ปุ่นก็ไม่จำเป็นต้องมีวิถีชีวิตที่หรูหรา หรือจะต้องหน้าตาดี ร่ำรวยด้วยค่ะ อย่างเรื่อง "Priceless" พระเอกของเรื่อง
ไม่ใช่รูปหล่อ (แต่อาจจะหล่อมากสำหรับแฟนละครญี่ปุ่น อิอิ) พ่อรวย แต่เป็นชายหนุ่มธรรมดา ที่หมดเนื้อหมดตัว และไม่มีที่ซุกหัวนอน!

แต่ที่เป็นตัวละครเอกได้ เพราะเป็นคนที่มีจุดเด่นในเรื่องความคิดความพยายาม การต่อสู้แก้ปัญหา นำไปสู่การถ่ายทอดเรื่องราวชีวิต
ที่น่าสนใจให้คนดูได้เห็นกัน ไม่จำเป็นต้องรวย หรือมีชีวิตที่สบายก็เป็นพระเอกได้นะ!


4. ไม่จำเป็นต้องเพอร์เฟ็คทุกระเบียบนิ้ว





อย่างเช่นนางเอกเรื่อง "Hotaru no Hikari" ก็ไม่ใช่ผู้หญิงที่เพียบพร้อมไปซะทุกอย่าง แต่เป็นผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่งที่มีลุคเป็นสาวปลาแห้ง สุดจะขี้เกียจ ไม่มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย แต่เธอก็ชนะใจคนรอบข้างได้ก็เพราะความเป็นตัวเอง และความซื่อสัตย์ จริงใจ ส่วนด้านการทำงาน ก็ไม่ได้ทำงานเก่งมาก แต่มีความตั้งใจ และความพยายามที่จะทำสิ่งๆ หนึ่งให้สำเร็จ





แม้ละครญี่ปุ่นจะมีตัวละครเอกที่ออกแนวเป็น "ซูปเปอร์ฮีโร่" แต่ถ้าให้มองดีๆ ความเก่งที่ว่า มักมาจาก "ความพยายาม" มากกว่า"พรสวรรค์"



ฉะนั้น อาจเรียกได้ว่า คนที่จะมีสิทธิเป็นพระ-นางญี่ปุ่น ไม่จำเป็นต้อง "สมบูรณ์แบบ" หรือ "เหมือนใครๆ ในสังคม" อาจจะเป็น "คนธรรมดา" "เป็นตัวของตัวเอง" หรือ "มีชีวิตที่แตกต่างจากคนทั่วไปในสังคม" 


ด้วยการที่เช็ตตัวละครเอกไม่ให้เป็นคนเพอร์เฟ็คอย่างเดียว ทำให้ละครญี่ปุ่นนำเสนอเรื่องราวของผู้คนได้อย่างหลากหลาย ทั้งหลากหลายในเรื่องตัวตน อาชีพ ความเป็นอยู่ และลักษณะนิสัย เหตุผลหนึ่งที่เราชอบดูละครญี่ปุ่นก็เพราะว่า...


เราได้เห็นชีวิตที่หลากหลายนี่แหละค่ะ บางทีก็เจอปัญหาที่ตัวเองเคยเจอในละครญี่ปุ่นด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะมีใครเข้าใจ แต่ละครญี่ปุ่น กลับหยิบยกเอามานำเสนอ และเสนอทางออกให้กับชีวิต


ไม่ได้นำเสนอแต่ชีวิตที่เลิศเลอเพอร์เฟ็คเพื่อมากดให้ใครรู้สึกย่ำแย่ลง แต่จะออกแนวปลุกพลังให้เราลุกขึ้นสู้กับชีวิตของตัวเองดูสักครั้งมากกว่า 


สุดท้าย...แท้จริงแล้ว ชีวิตที่ดี มีความสุข อาจไม่ใช่การที่เราต้องเป็นคนที่สมบูรณ์แบบไปซะทุกด้าน เราอาจจะเป็นคนธรรมดา หรืออาจจะเป็นคนที่ไม่เอาไหนก็ได้ แต่ต้องเป็นคนที่มี "ความพยายาม" ต่อสู้กับปัญหาและ "พอใจ" ในสิ่งที่ตัวเองเป็น



นี่...อาจจะเป็นความสุขที่แท้จริงของชีวิตก็ได้ค่ะ
และคนแต่ละคนต่างก็มีคุณค่าในตัวเอง ^^



0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น